อาหารไม่ย่อย อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่พบได้บ่อยประมาณ 25-40% ของประชากรทั้งหมดต่อปี และพบได้เกือบทุกคนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะพบได้มากกว่าในเด็ก ส่วนโอกาสการเกิดอาการมีใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

อาหารไม่ย่อย

ธาตุพิการ (ภาษาอังกฤษ : Indigestion หรือ Dyspepsia) หมายถึง อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น ส่วนสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลากหลาย และมีตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงโรคที่รุนแรง และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้ บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

สาเหตุอาหารไม่ย่อย

เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยเป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งมิใช่โรคที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยประมาณ 40% ของผู้ป่วยจะสามารถตรวจพบสาเหตุของอาการได้ แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 60% จะหาสาเหตุของอาการไม่พบ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล) ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ อาหาร หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

  1. อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล (Non-ulcer dyspepsia หรือ Functional dyspepsia) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (ไม่ว่าจะตรวจด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้)
  2. โรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) ซึ่งเป็นแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Stomach) ที่เรียกว่า “โรคแผลกระเพาะอาหาร” (Gastric ulcer) หรือเป็นแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (Doudenum) ซึ่งเรียกว่า “โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น” (Duodenal ulcer) โดยเป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 15-25%
  3. โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 5-15%
  4. กระเพาะอักเสบ/กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
  5. กระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอยู่นาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  6. โรคของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
  7. โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นกรณีที่พบได้น้อยกว่า 2% ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป (ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection), การมีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือเป็นผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีความชุกของมะเร็งกระเพาะอาหารสูง)
  8. โรคอื่น ๆ เช่น โรคกังวลทั่วไป, โรคซึมเศร้า, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคขาดน้ำย่อยบางชนิด (เช่น น้ำย่อยน้ำนม), โรคลำไส้แปรปรวน, โรคการดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption syndrome), โรคลำไส้ขาดเลือด, ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (ทั้งต่อมไทรอยด์เป็นพิษและต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย), ต่อมหมวกไตทำงานน้อย, Collagen vascular disease, การมีพยาธิในลำไส้ เป็นต้น
  9. เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์ เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีน เตตราไซคลีน อิริโทรมัยซิน เป็นต้น

วิธีรักษาอาหารไม่ย่อย

แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ การรักษาไปตามสาเหตุ (ในรายที่ทราบสาเหตุ) เช่น การรักษาโรคแผลเพ็ปติก การปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่) แนวทางการรักษาหลัก ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการให้ยาต่าง ๆ เช่น ยาลดกรด (Antacids), ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้, ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) และยาขับลม (Antiflatulent) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  1. ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือมีอาการจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติรับประทานยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์จะให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ถ้ารู้สึกว่าอาการทุเลาลงหลังรับประทานยาได้ 2-3 ครั้ง ให้รับประทานยาติดต่อกันนานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้
  2. ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อหรือยาขับลม (Antiflatulent) หรือยาลดกรดที่มีไซเมทิโคนผสมอยู่ โดยในเด็กเล็กให้รับประทานยาไซเมทิโคน ½-1 หยด (0.3-0.6 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำ 2-4 ออนซ์ (¼-½ ถ้วย) หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง ถ้ายังไม่ได้ผลหรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือดอมเพอริโดน (Domperidone) ก่อนอาหาร 3 มื้อ
  3. มีหลักฐานชี้ว่า การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy – CBT) สามารถช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพเพียงพอชัดเจนสำหรับการลดอาการอาหารไม่ย่อยในผู้ป่วยทุกราย แต่อาจใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นต้น

อาการอาหารไม่ย่อยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ประมาณ 7% ของผู้ป่วยทั้งหมด และคิดเป็น 50% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการของระบบทางเดินอาหารในเวชปฏิบัติทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งมักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง จนส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง